หากคุณเคยได้ยินเสียงสปอตโฆษณาเรื่องการเงิน การลงทุน ที่ปรากฏตัวในงานต่างๆของตลาดหลักทรัพย์อยู่บ่อยครั้ง หรือแม้กระทั่งเคยฟังเสียงผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อออนไลน์ด้วย หลายคนคงคิดว่าเป็นแค่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ด้านการลงทุนอย่างเดียวเท่านั้น แต่จริงๆแล้วเขาทำงานสื่อในหลายด้านทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็น นักจัดรายการวิทยุ ผู้พากย์รายการและโฆษณา โปรดิวเซอร์ พิธีกร นักแสดง และอื่นๆอีกมากมายอยู่ในแวดวงสื่อด้านตลาดทุนตลอด 20 ปี ของ โจ้ – ชัยยุทธ โล่ธุวาชัย
โดยจุดเริ่มต้นเป็นนักจัดรายการวิทยุในเครือ Smile Radio จนเริ่มเข้าสู่วงการสื่อด้านตลาดทุน เขามีบทบาทตั้งแต่อยู่ Family Know-How ที่ทำกิจกรรมหลายๆอย่างในการส่งเสริมความรู้ด้านการเงิน การลงทุน ให้กับประชาชนในทุกระดับผ่านทุกช่องทางสื่อในตอนนั้น ที่ได้สั่งสมประสบการณ์มาจนมาถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันทำในสายงานด้าน Live Streaming ในการถ่ายทอดสดงานกิจกรรมของเครือตลาดหลักทรัพย์ ที่สามารถเข้าถึงได้ในทุกแพลต์ฟอร์ม
ทาง The Track ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณชัยยุทธ ถึงเรื่องราวบนเส้นทางชีวิตในการทำงานสื่อด้านตลาดทุนตลอด 20 ปี ว่าเขาได้เรียนรู้อะไรมาบ้างจากการทำงานด้านตลาดทุน รวมไปถึงแนวความคิดมุมมอง ทัศนคติ การใช้ชีวิตที่สามารถทำให้มีตัวเขาจนถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร มาติดตามจากบทสัมภาษณ์กันค่ะ

จุดเริ่มต้นจากการทำงานด้านสื่อ พี่เคยทำอะไรมาก่อนไหม?
พี่เริ่มต้นจากการเป็นผู้ประกาศข่าววิทยุ สถานีวิทยุ Smile Radio ในเครือ Media Plus พี่เป็นรุ่นสุดท้ายของ Smile Radio ในยุคนั้น โดยเริ่มจากอ่านข่าว เรียนนิเทศ แล้วพี่ให้ลองทำกิจกรรมช่วงเรียน เขามีเปิดรับสมัครผู้ประกาศข่าวภาคกลางคืน ในการเป็นผู้ประกาศจึงต้องส่งเทปอ่านข่าว แต่ความโชคดีว่าเขาเลือกให้ไปสัมภาษณ์ จนได้เริ่มทำงานผู้ประกาศข่าว เพราะว่าเราเตรียมพร้อมมาตลอดมากกว่า
ในระหว่างที่เราเรียนหนังสือ เราชอบนักจัดรายการวิทยุ ชอบฟังเพลง ฟัง DJ แล้วเราทำไปเรื่อยๆ เราไปอยู่กับชมรมวิทยุของมหาวิทยาลัย และเขาบอกกับเราว่า ถ้าอยากจะอยู่ชมรมนี้ แล้วอยากจะทำงานด้านนี้ เราต้องฝึกซ้อมนะ เช่น อ่านหนังสือออกเสียง อ่านหนังสือพิมพ์บอกเสียง เชื่อรุ่นพี่ และซักซ้อมของเราเอาไว้ โดยที่ไม่รู้ว่าวันหนึ่งจะได้มีโอกาสทำหรือไม่ ตอนนั้นอยากเป็นนักข่าวกีฬา ชอบเล่นฟุตบอล อยากไปอยู่สยามกีฬา จึงได้ฝึกทดลองจัดรายการวิทยุ ทดลองลงเสียงสปอตโฆษณา ในขณะนั่งรถทัวร์ได้ดูรายการตลก แล้วฝึกเล่นคำมุขตลกๆจนแบบเฮฮา เหมือนได้ซ้อมการแสดงด้วย ในเวลาที่พี่อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ เจอป้ายก็อ่านป้าย เจอป้ายแล้วอ่านโฆษณา และทำหลายๆอย่าง นั่นคือเราได้เตรียมความพร้อมที่จะทำงานในสายงานนี้
จนกระทั่งวันที่ไปสัมภาษณ์งานอ่านข่าวที่สถานีวิทยุ Smile Radio แล้ววันนั้นพี่เจอคุณสรจักร เกษมสุวรรณ ช่วงนั้นเป็นผู้บริหาร Smile Radio ในขณะนั้น เขาคุยกับพี่ว่าชอบไหม ชอบทำงานอะไร ถ้าคุณคิดว่าอยากทำ และคุณอ่านได้ด้วยมาลองกัน แล้วทดสอบอ่านข่าวเข้าไปในห้องออกอากาศสดเลย พอเข้าไปแล้วด้วยความรู้สึกว่าการอ่านข่าวไม่ได้มีอะไรแปลกเลยสำหรับเรา เราลองอ่านหนังสือพิมพ์แบบอ่านออกเสียงได้ อ่านข่าวในพระราชสำนัก แทบไม่มีปัญหากับเราเลย เพราะว่าเราถูกฝึกมาแล้วว่าพี่ๆสอนยากสุดคือข่าวในพระราชสำนัก เวลาไปเจอข่าว เราจะต้องรู้ว่ากระบวนการขั้นตอนมีอย่างนี้นะ พอเราอ่านโปรยเสร็จ เดี๋ยวก็เข้าเทปในข่าว เหมือนลักษณะที่คนทำงานแล้ว ฉะนั้นเบรกเดียว ทำให้เปลี่ยนชีวิตเลย จนกระทั่งพี่ได้เริ่มงานในสายวิทยุ
ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นมาอ่านข่าวภาคกลางคืน ตั้งแต่ 4 ทุ่ม ไปจนถึง ตี3 แล้วค่อยขยับไปเรื่อยๆ พออ่านข่าวอยู่แค่ประมาณ 5-6 เดือน จึงได้เริ่มมาอ่านข่าวช่วงกลางวัน ต่อมาเขามาชวนพี่ตูน สรรเสริญ ปัญญาธิวงศ์ เป็นนักจัดรายการวิทยุ ให้ชวนมาทำ Greed Radio ซึ่งเป็นรายการที่เวลามีคนโทรเข้ามาขอเพลง แล้วต้องระบายส่งเสียงกรี๊ดดังๆ สำหรับตัวคลื่นได้รับความสนใจอยู่แล้ว เราเข้าใจแค่ว่ารายการคงต้องมีสีสันอะไรสักอย่างที่จะสร้างกระแสให้คนสนใจ แล้วมีนักจัดรายการ DJ ช่วยเพียงไม่กี่คนอย่าง พี่ตูน สรรเสริญ คุณป๊อป นฤพนธ์ ไชยเพิ่ม ถือว่าเป็น DJ แม่เหล็กที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นอยู่แล้ว พวกนี้มาค่อนข้างมาก็ดีตรงที่มันเฮฮาสนุกสนานมาก่อนแล้ว
ในเรื่องการทำรายการ Greed FM ตอนนั้นที่โทรมาแล้วต้องกรี๊ดระบาย แต่เอาจริงๆก็มีคนด่านะ อยู่ๆมันมีคลื่นวิทยุเปิดเพลง สนุกสนานบ้าบอโทรมา อำกัน ขำกัน หัวเราะ เสียงดัง แล้วคนฟังก็โทรมากรี๊ดกันทั้งวัน พอต้นชั่วโมงก็ได้ยินแล้วเสียง 4-5 กรี๊ด เชื่อว่าเกินครึ่งโทรมาจากตู้โทรศัพท์สาธารณะ มาพร้อมกับการขอเพลงที่เขาชื่นชอบ ดูเหมือนเป็นคลื่นแรกๆที่เริ่มเอา DJ ไปจัดงาน On Stage ที่ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ในตู้ห้องกระจก แล้วมีเด็กๆยืนส่อง เรารู้สึกเหมือนเป็นปลาทอง ทำให้พวกเขากลายเป็นสนิทชิดเชื้อเป็นเพื่อนหลายคนที่ฟังวิทยุตอนนั้นยังเป็นเพื่อนจนถึงทุกวันนี้ สร้างเป็น Community ในช่วงเวลานั้น มันกลายเป็นเหมือนวิชาความรู้ส่วนหนึ่งติดตัวมา การจัดรายการในช่วงเวลานั้น การอ่านข่าว การทำรายการที่เป็น News & Talk พี่ได้อยู่ 2 คลื่นนะ คลื่นข่าวคลื่นหนึ่ง และคลื่นวิทยุคลื่นหนึ่ง งั้นทำงานสองประเภทในช่วงเวลาเดียวกันในช่วงนั้น เส้นทางการอยู่ในสายของสื่อวิทยุ ที่ส่งผลจนถึงงานฝั่งที่เป็นตลาดทุน

อะไรที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตที่ทำให้เข้ามาอยู่ในวงการสื่อด้านตลาดทุน?
ถือเป็นความโชคดีของพี่ที่มีเจ้านายเก่าที่ทำวิทยุช่องข่าว News&Talk คือพี่วีระ ธีรภัทร เป็นเจ้านายของพี่ และเป็นคนสุดท้ายที่ดูแลกันตอนที่จัดรายการวิทยุอยู่ มีพี่เว้ วิเชฐ ตันติวานิช เป็นคนชวนมา พี่โก้ รัชชพล เหล่าวานิช ถ้ารู้จักคือเจ้านายคนเดียวคุณอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ ที่ทำอยู่ TPBS ตอนนั้นเขาชวนมา ตอนแรกๆยังไม่ได้มาทำอย่างจริงจังนะ แต่ต้องการผู้ประกาศข่าว ซึ่งเชื่อว่าพี่ทำได้อยู่แล้ว แค่มารับจ็อบทำผู้ประกาศข่าว ยังทำธุรกิจส่วนตัวอยู่ทำ Event ทำพิธีกรรับจ้าง พอรายการวิทยุเริ่มซาๆลงแล้ว ซึ่งเริ่มแบบไม่สนุกก็กำลังหาอย่างอื่นทำ ก็มานั่งอ่านข่าวที่ตลาดหลักทรัพย์อยู่ประมาณ 3 เดือน อ่านข่าวกลางวัน กลางคืน พี่ไปทำงาน Freelance อ่านแล้วก็มาสอนแล้วให้ไอเดีย จนต้องเริ่มมีอะไรจริงจังขึ้นมาทำงานบริษัท 3-4 เดือน เปิดบริษัทมาหลายเดือนแล้ว ตอนนั้นเริ่มมีรายการทีวีและรายการวิทยุเกิดขึ้นอยู่มากมาย คราวนี้คนไม่รอคอยที่จะมานั่ง Freelance อ่านข่าวอยู่ นั่นไม่ใช่เส้นทางของพี่แล้ว จนกระทั่งเขาก็ชวนว่ามาทำประจำกันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
จำได้ว่า นโยบายของคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯในขณะนั้น มีนโยบายส่งเสริมความรู้ด้านการเงิน การลงทุนผ่านช่องทางสื่อต่างๆนั้น มีบทบาทสำคัญในฐานะคนทำสื่อด้านตลาดทุนอย่างไร?
เนื่องจาก Mission ที่มาในผู้บริหารในยุคนั้นของตลาดหลักทรัพย์ฯ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นคนแรกที่คิดริเริ่มแบบนี้ ถ้าเมื่อก่อนคำนี้ไม่มีเลยนะ น่าจะมีแต่หุ้น สมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตลาดหลักทรัพย์คงจะมีแต่ภาพเดียวที่รู้จักคือขายหุ้น ซึ่งคนที่ไม่ได้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องของการทำงานในสายนี้เลย ประชาชนคนทั่วไป ไม่มีทางเข้าถึงตลาดหลักทรัพย์ได้เลย Mission ของคุณกิตติรัตน์ในช่วงนั้น จะมีความรู้สึกเลยว่าอยากจะเอาสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ให้บริการอยู่คือการลงทุน การทำให้เงินมีเพิ่มมูลค่าในหลักการที่ตลาดหลักทรัพย์มีอยู่ตอนนั้น ซึ่งประชาชนคนทั่วไปเข้าไม่ถึงหรอก เราเคยใช้สื่อสารมวลชนที่เป็นสื่อปกติอย่าง 3 5 7 9 11 แต่ว่าทุกคนเป็นสื่อมวลชน ช่องปกติซึ่งจะมารายงานข่าวเศรษฐกิจแบบที่ชาวบ้านไม่มีใครเข้าใจได้
ตอนนั้นเราเองเป็นคนที่อยู่ในเรียนหนังสือ ทำงานในสายสื่อสารมวลชน เราไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์เลย แล้ว Mission ของคุณกิตติรัตน์ในตอนนั้นคือ อยากทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจได้ อยากให้เข้าถึงทุกคนเพราะว่าจริงๆสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์พยายามจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตลาดให้บริการอยู่ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีเหมือนบัญชีเงินฝาก แต่เอาพนักงานกันเองทำให้เอาฝ่ายงานสื่อสารองค์กรของตลาดหลักทรัพย์ไปทำช่องให้สื่อสารมวลชนช่องปกติทั่วไป เขามีความเข้าใจและรายงานเราได้มันไม่ได้ทำกันง่ายๆ แล้วเวลาข่าวเศรษฐกิจแต่ละวันมีแค่วันหนึ่งประมาณ 5 นาที เต็มที่ 10 นาที ไม่มีทางสอนอะไรใครได้เลย พี่โต้ง กิตติรัตน์เลย ฉันต้องทำเองนั่นแปลว่าเราจะได้มีพื้นที่กันอย่างเต็มที่อยากทำอะไรก็ทำ กว่าจะมีช่องของเราเลยตั้งบริษัทหนึ่งขึ้นมาคือ Family Know-How ถือเป็นบริษัทลูกที่พันธกิจในตอนแรกๆ คือแค่ทำรายการ 1 รายการ 2 ชั่วโมง ผ่านทางช่องทีวีต่างๆ แล้วทำวิทยุ ทำสื่ออะไรก็ได้ให้คนได้มีความรู้เรื่องนี้ พอตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาคือการเอาไพร่พลมาจากช่อง 3 5 7 9 11 ตอนนั้นเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะว่าการทำงานสื่อสารมวลชนช่วงนี้คือมนุษย์ทองคำครับ ค่าตัวแพงมาก และร้อยละร้อยไม่มีใครอยากทำหรอก สิ่งที่พี่โต้งทำคือเอาคนที่ไม่รู้เรื่องนี้เลยก็ได้ แต่พอจะทำได้ แล้วพอจ้างไหว ดึงพวกนี้มารวมกัน

เล่าถึงเริ่มแรกที่เคยทำ Family Know How มาตั้งแต่ยุคบุกเบิก?
ตั้งแต่ที่พี่ทำ Family Know-How ตอนนั้นมีทั้งพี่เอง พี่มด แล้วมีหลายๆคนที่แบบมีความรู้ มีคน 2 ฝั่งคือคนที่ทำสื่อสารมวลชน กับอีกฝั่งคือคนที่ทำคอนเทนต์กัน เอามารวมอยู่ในบริษัทเดียวกัน ต้องเจอกันทุกวันต้องแบบคนสายสื่อต้องอะไรได้บ้าง ใน Mission คือแบบนั้น
ตอนนั้นพี่ทำรายการทีวีเป็นรายการแรกที่พี่ได้ทำคือ ช่อง9 ในตอนตี 5 คือรายการ “Inside ธุรกิจ” เป็นรายการที่ต้องไปถ่ายสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน แล้วมาออกอากาศตอนเช้าที่บอกว่าบริษัทพวกนี้เป็นบริษัทจดทะเบียน ทำธุรกิจอย่างนั้นอย่างนี้ เข้ามาลองดูมาทำการศึกษาจะได้ลงทุนกับเขาได้ พี่เริ่มมาทำตอนนั้นคนไม่มีนะ เขามาทำกับพี่เจี๊ยบ อลรดา เผ่าวิบูล เป็นพิธีกร แล้วพี่สลับเป็นพิธีกรบ้าง โดยเริ่มแรกน่าจะเป็น BAFS เป็นบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบิน พี่เลยไปถ่ายถือเป็นรายการทีวีรายการแรกที่ทำเองทุกอย่าง ทั้งเขียนบทเอง สัมภาษณ์เอง ทำอยู่หน้ากล้องเอง คือมันสนุกดีโว้ย เหมือนรู้สึกได้ประโยชน์ และได้ความรู้กับตัวเองมากๆในการทำแต่ละรายการ
โดยแต่ละเทปที่ออกอากาศทำตั้งแต่ถ่ายกลางวันยันกลางคืนก็ไปนั่งคุมตัดต่อ พอไปคุมตัดเสร็จ เทปเสร็จ ประมาณ 5 ทุ่ม เที่ยงคืน ตีหนึ่ง ต้องวิ่งเทปไปส่งออกอากาศเองที่ช่อง9 เพื่อจะออกอากาศตี 5 แล้วอยากรอดูเทปออกอากาศ พอได้ดูตอนออกอากาศ แรกๆก็ฮาตัวเองทำข่าวว่าอะไรวะเนี่ย มันรู้สึกดีมากๆเลย แล้วสนุกกับการพัฒนารูปแบบรายการไปสั่งสมความเป็นตัวตนเองอีก ซึ่งตอนนั้นพี่ทำรายการอยู่เกือบปี ก่อนที่จะมีรายการก้าวทันตลาดทุนมาทำแทน พอเมื่อมีรายการนี้พี่ไม่ต้องทำแล้ว จนพี่กลายเป็นว่ายังมีอีกทางช่องทางหนึ่งเพราะ Mission ของพี่โต้ง กิตติรัตน์ ไม่ได้มีแค่ทีวีอย่างเดียวเท่านั้น มีงาน Part Event ที่เกิดขึ้น พี่โต้งชวนให้เราลองทำละครเวทีดู
ตลาดหลักทรัพย์เคยมีหนังสือนิทานสำหรับเด็ก “หมูอู๊ดอี๊ดกับกระปุกกายสิทธิ์” แล้วมาต่อยอดเป็นโปรเจคละครเวทีซึ่งเป็นอีกงานหนึ่งที่แบบไม่เคยทำเลย จนกระทั่งได้พบอาจารย์คณิต คุณากุล ที่อยู่ UBC ในยุคนั้น และคุณพรรัตน์ ดำรุง อดีตคณบดีของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำละครเวทีในระดับต้นของเมืองไทย เลยชวนลองทำละครเวทีสำหรับเด็กให้เราลองดู อย่างทีมเรามีอยู่ 5-6 คน มีพี่ พี่เต๋า พี่มด มีอีก 4-5 คน ไม่เคยทำละครเวทีเลย ไม่ได้มีศาสตร์ทางด้านนี้เลย สิ่งที่พี่โต้งทำก็คือปีหน้าจะละคร พวกคุณต้องทำ ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาทำคืออย่างแรกก่อนเลยคือไปเรียนให้รู้ก่อนว่าคืออะไร เขาส่งเราไปเรียน 6 เดือน ที่ธรรมศาสตร์การละคร

ในขณะที่เราเรียนนั้น เตรียมทีมงาน โดยมีอาจารย์พรรัตน์ อาจารย์นพีสี เรเยส เรื่องการทำเพลงละครแบบขั้นสุดยอด เริ่มมีการเตรียมโปรเจคละครเวทีเล่นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมัยก่อนเล่นหอประชุมสังเวียนฯ 300 ที่นั่ง หวังว่าจะเล่นละครให้กับเด็กๆ มาดูกัน จนวันที่นพีสี เรเยส เริ่มเอางานที่สร้างสรรค์ หมูอู๊ดอี๊ดกับกระปุกกายสิทธิ์ โดยเริ่มเอานำเสนอ Demo เพลงมาให้ฟังในดราฟแรก ในรูปแบบละครมาคุยกันว่าเราจะทำยังไง พอเปิดเพลงหมูอู๊ดอี๊ดให้เราฟัง ทำให้เราเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่ง โดยมีหมูไปอยู่ในเมืองแห่งการออม มีแม่มดฟองสบู่ เป็นโลกใหม่แบบดีจังน่ะ ตอนนั้นเรารู้สึกดีมากกับการได้ทำงานนี้ วันนั้นคือขอบคุณพี่โต้งอย่างมากเลยที่ได้มีโอกาสได้ทำละครเวทีขึ้นมา ถือเป็นอีกพาร์ทหนึ่งที่พวกพี่ทุกคนที่ทำงานในยุคนั้นมาด้วยกัน ทุกวันนี้ยังฝันอยู่เลยว่าถ้ามีโอกาสจะกลับไปทำอีก เพราะว่าเป็นงานแบบคือทุกคนจะยกไว้ว่าเป็นที่สุดของการทำสื่อ อย่างหมูอูดอี๊ดก็ทำนะ ทำอยู่สัก 4-5 ปี สลับกันทำอย่างอื่นด้วย เริ่มตั้งแต่สังเวียน ขยับมาเป็นศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในงาน SET In the city งาน Money Expo จนกระทั่งเล่นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
นอกจากละครเวที มันมีอีกอันหนึ่งซึ่งเป็น Passion ส่วนตัวคือเราชอบเล่นฟุตบอลนะ เราเคยฝันอยากเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬา เราชอบเล่นฟุตบอลน่ะพูดง่ายๆ มีความรู้สึกว่าพี่โต้งว่าเราเตะบอลด้วย จึงได้ทำโปรเจคฟุตบอลกองทุนรวม ช่วงนั้นกองทุนรวมต้องโปรโมท LTF RMF ด้วย โดยจะ Tie-In ความรู้เรื่องการเงิน-การลงทุนให้แก่เด็กและเยาวชนยังไง 1 ชื่อสนาม สนามฟุตบอลกองทุนรวม 2 มีทั้ง 2 สนาม คือ ฝั่งซ้ายเป็น LTF สนามขวาคือ RMF ซึ่งเด็กๆจะจำได้เลยว่าได้เตะสนามไหน สิ่งที่เด็กจำได้ก็ไปบอกพ่อแม่ต่อ มันเกิดความอยากรู้อยากเห็น พ่อแม่สงสัยว่า RMF LTF คืออะไร มี Short ขายต่อ คือทันทีที่สื่อสารกับพ่อแม่ จนได้ไปเรียนรู้ด้วยกัน จนกลายเป็นช่องทางในการสื่อสารความรู้ด้านการเงินอีก 1 ช่องทาง ที่เราแบบอ่อนด้อยมาก เราไม่รู้วิธีการสื่อสารแบบนี้ พี่โต้งเป็นคนสอนให้เราทำเรื่องพวกนี้
จากนั้นจะมีโปรเจคเป็นระดับมหาวิทยาลัยทำโครงการ MMA (Money Management Award) คนอย่างพี่สามารถสื่อสารด้านการเงินการลงทุนได้ แต่จริงๆยังมันมีงานฝั่ง Stock งานฝั่งของตลาด อนุพันธ์ที่เกิดขึ้น มีหลายสิ่งหลายอย่างที่คนอย่างพี่สอนไม่ได้แล้ว มันต้องมีผู้เชี่ยวชาญ คนที่มีความรู้มากกว่า แล้วสามารถที่จะสื่อสารนำเสนอเรื่องพวกนี้ออกไปได้จำนวนมากขึ้น คนพวกนี้ตอนนั้นมีไม่เยอะ MMA เลยเกิดขึ้นเพราะว่าอยากให้มีศูนย์บ่มเพาะคนที่มีความรู้ด้านการเงินการลงทุนอยู่แล้วเช่น เรียนเศรษฐศาสตร์ บัญชี การเงิน แต่ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์สอนเพราะว่าในมหาลัยสอนเรื่องตลาดหลักทรัพย์น้อยมาก ไม่ได้สอนแบบหลักการชีวิตให้เข้าใจกันได้แบบที่ Family Know-How บ่มเพาะคนจริงๆ

Family Know-How เหมือนกันเป็นโรงเรียนบ่มเพาะผู้คน เอาคนในที่ต่างๆ มาอยู่ด้วยกัน เรียนรู้ด้านการเงิน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเป็นสถานที่หนึ่ง ดังนั้นโปรเจค MMA ทำให้เกิดสถานที่แบบ Family Know-How อยู่ในมหาวิทยาลัย เอาเด็กๆมาเข้าแคมป์อยู่ด้วยกัน รุ่นแรกในปี 2003 หมอคิด นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์ ทุกวันนี้เป็น CEO ที่ทำเรื่องเกี่ยวกับ Start Up ของ RISE กระทรวง จารุศิระ จาก Super Trader โยโย่เวย์ (สันติ สิงห์วังชา ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) นักลงทุนอันดับต้นของไทย และอีกมากมายที่เกิดมาจาก MMA ในยุคสมัยนั้น ที่พิธีกรหลายคนของ Money Channel มาจากสายนั้น พี่อิก บรรพต ธนาเพิ่มสุข จาก YRC (Young Research Competition) ถือเป็นโปรเจคที่เติบโตมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นสิ่งที่คิดคือสร้างคนรุ่นใหม่ที่ให้ใส่ใจเรื่องการเงิน ถือเป็น Event การตลาดที่สอนเราอีกเรื่องหนึ่งว่ามีวิธีการ ที่ต้องตั้งใจเรียนรู้ขนาดนี้ ถึงจะสามารถที่จะเข้าใจได้ เข้าใจวิธีการที่จะสอนผู้คนเกี่ยวกับเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์พยายามจะสอนให้สั้นขึ้นเพราะว่า Management มีเวลาประมาณ 1-2 เดือน ต่อ 1 โปรเจคต่อปี ทำยังไงจะสอนเหล่านี้ได้จนสามารถเข้าใจได้ในเวลาสั้น พวกนี้ฝึกพวกเราในการทำเนื้อหาให้ง่ายขึ้น สอนได้เร็วขึ้น เข้าใจง่ายขึ้น การอยู่ด้วยกันก็บ่มเพาะผู้คน
ตั้งแต่มีสถานีโทรทัศน์ Money Channel ถือส่วนสำคัญในการเป็นทีวีเศรษฐกิจแห่งแรกของไทยในการผลิต Content ด้านการเงิน การลงทุน สู่ประชาชนได้อย่างไร?
ในตอนนั้นที่ตลาดหลักทรัพย์เริ่มมีช่องทีวีเป็นของตัวเอง จึงเริ่มมี Money Channel ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความรู้ทุกอย่าง เป็นช่องทางในการสื่อสารให้กับผู้คนในเรื่องนี้ที่เป็นแบบเฉพาะเจาะจง ถ้าเทียบปัจจุบันเป็น Facebook Page แรกๆ เพราะหลักการ Facebook ใครสนใจเรื่องไหนก็อยู่บนเพจนั้น Money Channel จึงเป็นสถานีเฉพาะเรื่องที่ใครอยากรู้เรื่องการเงินเรื่องการลงทุนต้องดูช่องนี้
โปรเจคสำคัญอย่าง “ชีวิตคือการลงทุน” มีแนวคิดอย่างไรบ้างในการตระหนักให้ผู้คนเข้าใจถึงความสำคัญเรื่องการลงทุนในชีวิต?
ชีวิตคือการลงทุนเป็นโปรเจคตอนที่พี่ทำทีวี ทำรายการขึ้นมาสักรายการหนึ่ง คุณรัชชพลนี่แหละ เขาเลยดำริคำนี้ เขามองว่าเรื่องการลงทุนอยู่ในชีวิตของผู้คน เป็นสิ่งที่เราทุกคนทำงานมาด้วยกัน เข้าใจแหละว่านำมาขมวบคำว่า “ชีวิตคือการลงทุน” เป็นโจทย์ของคนอื่น เราอยากได้รายการทีวี เราอยากได้ Event ชิงโชค เราอยากสอนให้คนรู้เรื่องการบริหารเงินผ่านรายการทีวี ชีวิตคือการลงทุน มันตีความคือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำในชีวิตเรามันคือการลงทุนทั้งนั้นแหละ อยากได้ตัวการลงทุน ไม่ว่าคุณทำอะไรก็ตาม โปรเจคหนึ่งคือรายการทีวีมีแนวคิดว่าเราอยากให้ผู้คนเห็นว่า มันคือการลงทุนของชีวิตคุณทั้งนั้น จะคุณทำร้านก๋วยเตี๋ยว คนเย็บเสื้อผ้า คุณต้องไปเรียนนะ คุณจะแต่งงาน คุณเป็นการลงทุนของชีวิตเหมือนกัน การจะเป็นชีวิตคู่ต้องลงทุนหลายเรื่องเพื่อให้ทุกคนเริ่มไม่กลัวที่จะลงทุน เพราะตอนนั้นกลัวการลงทุน เดี๋ยวเจ๊ง แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่คุณทำอยู่ทุกอย่างคือการลงทุนเลยออกมาเป็นรูปแบบรายการซึ่งมันตอบโจทย์หลายเรื่อง ถือเป็นรายการทอลค์แรกๆที่คุยเรื่องนี้โดยตรง
ตอนนั้นรายการทอลค์มันฮิตนะ ทำรายการก็เริ่มมีคนดู ทำรายการทอลค์ในมุมแบบที่ทำไปเป็นเฉพาะกลุ่ม แล้วถามว่าประสบความสำเร็จไหม ตัวนี้ยังไม่ค่อยแฮปปี้กับมันเพราะว่าตอนนั้นเราทำได้ไม่ดี แต่เรารู้ว่ามีข้อจำกัดทำให้เรารู้สึกว่า ได้เท่านี้ก็โอเคแล้ว ไปถ่ายทำตัดต่อทุกอย่าง ตอนนั้นเริ่มทำทุกอย่างเองแล้ว ถามว่ามันไม่สำเร็จในแง่ของการสร้างการรับรู้ด้วยช่องทางไหม ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีสื่อ Social Media ยังเป็นช่องทีวีล้วนๆ ก็ยากที่จะทำให้คนหันมาดูได้อย่างปริมาณที่คุ้มกับการที่ลงแรงไป จริงๆมันมีคนดูเยอะกว่านั้น ออกมาช่องทางได้เท่านั้น เราไม่มีตังค์พอจะไปซื้อช่อง 3 5 7 ซึ่งมันดีอยู่ แต่พอมายุคนี้มันได้กลับมาทำอีกทีขึ้นมาอีกแบบเป็น Social Media ซึ่งจะไปเกิดบนสิ่งที่พี่ทำใน Part อื่นนะ

ครั้งหนึ่งที่พี่มีบทบาทเป็นพิธีกรรายการด้วยว่าแตกต่างจากทำงานเบื้องหลังอย่างไร?
รายการเข็มทิศ CSR ได้เรื่องของความรู้อีกแบบหนึ่ง จริงๆ ถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่สมัยทำละครเด็กนะ ทำฟุตบอล ทำทุกสิ่งทุกอย่างมันสอนเราว่าเราต้องทำอะไรเพื่อสังคม ทำเพื่อบ้านเมือง แต่ยังไม่มีการเอามามัดรวมให้เป็นคำที่สื่อสารง่ายๆว่าการทำเพื่อสังคม จริงๆใช้คำว่าอะไรเพื่อที่จะบอกกันสั้นๆจึงเกิดคำว่า CSR การเป็นคำใหม่ขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นพี่รู้จักว่าคือสิ่งที่เราทำมาตลอดเป็นสิบปีที่ตลาดหลักทรัพย์ให้เราทำ เพราะเรื่องเป็นอย่างงี้นี่เอง เป็นเรื่อง CSR นะ เขามีโจทย์มาให้ ถ้างั้นคุณทำเรื่องวันเด็ก พออะไรจะเข้าใจเรื่อง CSR อยู่ในระดับหนึ่ง ไปทำรายการทีวีอยู่ โดยเริ่มจากไปสัมภาษณ์พูดคุยบนเวที แล้วไปรู้จักคำๆนี้ เลยมีการคิดโปรเจคขึ้นมาว่า ถ้างั้นเราคนทำทีวี แล้วเอามาทำเป็นรายการทีวีไหม เราทำกันดูเอง
ในวันนั้นเงื่อนไขมันยากอยู่เหมือนกันที่จะต้องทำให้ได้ในหนึ่งเทปมีงบประมาณ 50,000 บาท เป็นที่อื่นไม่มีใครรับทำ แต่เราอยากทำ วันนั้น CSR คือเราอยากทำมาก เพราะเราชอบเนื้อหานี้ แล้วเรานึกภาพบรรยากาศของการออกไปทำรายการที่ทำเองทั้งหมด รู้สึกสนุก มีความสุขมากๆ เลยแบบเอาว่ะ ทำ ยอม งบประมาณ 50,000 สำหรับคนอื่นเห็นว่าน้อย แต่สำหรับเราเชื่อว่าทำได้ นั่นคือแนวคิดแบบที่ถูกบ่มเพาะมาตลอดในช่วงหลายปีทำในที่ตลาด พอรู้สึกว่าถ้าคุณอยากทำ ถ้าคุณอยากมี Passion ทำไปเถอะ แล้วมีคนช่วยคุณเอง พอเอาเข้าจริงพอทำรายการตอนนั้นด้วยงบ 50,000 บาท พี่ไม่ได้ใช้ตังค์ด้วย เพราะว่าแต่ละอย่างนะ เวลาไปถ่ายลูกค้า ลูกค้าซื้อ อันนี้คือจ่ายเงิน เรารู้จักการตลาดเพิ่มด้วย แล้วเราขายเอง รายการนั้นเป็นรายการแรกที่พี่เพิ่มงานขายของตัวเองด้วย ขายสปอนเซอร์เอง ถ่ายเอง เริ่มตัดเอง ทุกอย่างเองคนเดียว ถ้าถ่ายเองได้จะถ่ายด้วย แต่บังเอิญต้องมีคนตัดกล้องไปด้วย สมัยก่อนไม่มีกล้องมือถือแบบนี้นะ มีตากล้องถ่ายไปคนหนึ่ง ถ่ายกันไปมาเพื่อออกอากาศ มันทำให้ได้รู้ทุกอย่างที่ควรต้องรู้ ควรรู้ตั้งแต่สมัยเรียนด้วยซ้ำ แต่เพิ่งมารู้นี่แหละ เป็นขั้นสุดของการเรียนรู้ทั้งหมดคือรายการเข็มทิศ CSR นี่คือ Master Piece ของชีวิต

รู้สึกอย่างไรบ้างที่พี่ได้ย้ายไปอยู่ในฝ่ายของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีสิ่งที่อยากจะท้าทายทำในสิ่งใหม่ๆที่เข้ามาในชีวิต?
ยังมีอีกหลายเรื่องนะครับ พอเราเป็นสถานะตลาดหลักทรัพย์จริงๆ มีความรู้สึกอีกแบบนะ ตอนอยู่ Family Know-How ก็รู้สึกอีกแบบหนึ่ง สถานการณ์อยู่ด้วยตำแหน่งที่โตขึ้น เป็นอีกสายงานหนึ่ง มันก็ไม่เหมือนเดิมแหละ ไม่เหมือนสมัยอยู่ Family Know-How ความสนุกมันก็น้อยลงหน่อย เพราะโตขึ้นนะ แต่ยังมีโอกาสยังมีช่องทางที่เราสามารถเอามาใช้ในการทำงานสร้างสรรค์สื่อต่างๆได้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นโอกาสใหม่ๆที่ได้มีโอกาสมาทำนะ ช่วยงาน TFEX ช่วยงานของตลาดอยู่หลายงาน เราทำเรื่องของการทำรายการผ่านถ่ายทอดทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้เราต่อยอดจนถึงทุกวันนี้ที่เราทำเรื่องเกี่ยวกับ Studio Live Streaming ต่างๆ จึงมีสายงานนี้เกิดขึ้น
ด้วยความที่เรายังมีเชื้อของการทำทีวีหลงเหลืออยู่ในช่วงที่ผ่านมา แต่ว่าวิธีการที่นำเสนอผ่านช่องทางอีกแบบที่ไม่ใช่คลื่นวิทยุ ไม่ใช่สัญญาณดาวเทียมแล้ว อันนี้เป็น Internet Streaming ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์อีกแบบวิธีการทำรายการ รูปแบบอีกแบบสไตล์การทำรายการที่เปลี่ยนไป รูปแบบการนำเสนอที่เปลี่ยนไป แต่ว่าทั้งหมดทั้งมวลที่อยู่อย่างแข็งแรงมาได้ทุกวันนี้มันคือการบ่มเพาะของเรา

อุปสรรคสำคัญของพี่ในการทำสื่อด้านตลาดทุน?
อุปสรรคสำคัญคือเงิน ถ้ามีทุนมากกว่านี้หน่อย มันจะได้มีช่องทางที่ คือเวลาสื่อที่จะเข้าถึงใครสักคน ต้องมีความพยายามมากๆ เพราะว่ามีช่องทางสื่อ Social Media เป็นสื่อที่จริงๆไม่ได้กว้างเป็น Mass Media เราอยากมีสื่อที่แบบเข้าถึงทุกคนได้มากขึ้น ดังนั้นจึงต้องใช้เงินอย่างมากทีเดียวเลย ใช้เงินเยอะกว่าสมัยก่อนยากกว่าทำ Money Channel อีก แต่ก็ช่วยไม่ได้ว่าไปตามสภาพทำให้ดีที่สุดเท่าที่กำลังเราจะมี
อุปสรรคตอนนี้คือ ทำสื่อยากมาก ทำสื่อให้เข้าถึงผู้คนได้ยากมาก เราต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง ถึงจะมีคนเข้ามาหาเรา ซึ่งตอนนี้ในสายการเงินอาจจะมีแค่อยู่ไม่กี่คนอย่างสายการเงิน การลงทุน ที่เรียกว่าเป็น Mass พูดแล้วมีคนจำนวนฟังมากๆ การจะไปใช้ให้เป็นกระบอกเสียงให้เราไปฝากโฆษณาต้องใช้เงินทั้งนั้นเลย คนแบบนี้มีอยู่ไม่เยอะ ทั้งๆที่เนื้อหาการเงิน การลงทุนเป็นเรื่องที่คนที่เป็นสื่อสารมวลชนทุกคน ทั้งดารา นักแสดง นักร้อง ที่อยากเป็นคนที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่แบบเราเข้าใจเบสิกพื้นฐาน ไม่จำเป็นต้องเก่งไรมาก เพราะอย่างน้อยที่สุดคุณจะรู้จักการที่จะบริหารเงิน คุณจะมีความสามารถในการไปสื่อสารต่อได้ ถ้าดาราแบบอย่างพี่ณเดชรู้เรื่องตลาดทุนในแบบที่เรารู้ มีความรู้สึกอยากบอกผู้คนในแบบนี้ ถ้ามีโอกาสเขาจะพูดเสมอ อยากมีคนอย่างนี้เยอะๆที่แบบพูดแล้วมีคนฟัง พูดแล้วมีคนสนใจ พูดแล้วมีคนเชื่อ แล้วเป็นคนที่ดีพอที่จะพูดเรื่องในทางที่ถูกต้องให้คนเอาแนวคิดนำไปปรับใช้

การทำงานสื่อด้านตลาดทุนในยุคปัจจุบัน แตกต่างจากยุคก่อนอย่างไร?
จริงๆ สมัยนี้ทำง่ายกว่ายุคก่อนนะ ทำรายการ 5 นาที ให้รู้เรื่องให้ได้ ให้คนสนใจใน 1 นาที แล้วกดหนี มันยากกว่าเมื่อก่อนเยอะเลย
การทำงานสื่อด้านตลาดทุน จำเป็นที่จะต้องจบคณะเศรษฐศาสตร์ การเงิน บ้างไหม?
จบมาก็ดี จบมาก็เข้าใจง่ายขึ้นหน่อย ไปได้ไกลขึ้น รู้ได้ลึกขึ้น แต่ไม่จบมาก็ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้นะ แต่อาจจะทำได้ แต่ต้องใช้ความพยายามมากกว่า เพราะไม่เคยเรียนมานะ เรื่องของตลาดหลักทรัพย์ เรื่องของเงินทุน คำนวณ มูลค่า งบประมาณบริษัท แบบที่ไม่เรียนมาเลยก็ทำไม่เป็นจะได้แค่ผิวเผิน ไปเรียนมาก็ดีกว่า แต่ถามว่าไม่เรียนไหม ไม่เรียนก็ทำได้ คนเรียนหนังสือ คนเรียนนิเทศทำได้ แต่ทำได้ไม่ดีเท่าคนเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วแต่ความคิดไม่เหมือนกัน
พี่มีแนวคิดที่อยากจะทำ Content Creator ด้านการเงิน การลงทุน ของตัวเองไหม?
แล้วแต่จังหวะและโอกาส ถ้ามีโอกาสได้ทำก็อยากจะทำ ถ้าถามว่าทำไหม ก็อยากสร้างคนมาทำมากกว่า เวลาตัวเองเหลือน้อยแล้ว ทำเองคงได้คงพลังไม่มากพอในมุมพี่นะ เพราะว่าพี่เหลือเวลาอายุงานไม่นานสำหรับการทำเงินที่ตลาด ถ้าอยากจะทำเอง แต่ไม่ได้มีเงินทุนมากมาย มันจะไม่ได้ผลอย่างที่ควรได้ อยากสร้างคนให้มาช่วยทำ หาคนมาเติมให้เขาแทนเราต่อไป น่าจะดูเป็นประโยชน์กว่า แต่ถ้ามีโอกาสก็ทำนะ เวลา 10 ปีที่เหลือก็อาจจะเป็นสิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกับการสร้างคนรุ่นใหม่ไปด้วยให้เข้ามาเติม

จากประสบการณ์ชีวิตบนเส้นทางสื่อด้านตลาดทุน ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังตลอด 20 ปี ได้เรียนรู้อะไรมาบ้างไหม?
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์สอนเราในสมัยที่เรายังเป็น Family Know-How เราเป็น Money Channel เราเป็นฝ่ายงานกิจกรรมของ Family Know-How ในตอนนั้น เรารู้ว่าต้องทำงานอะไรอย่างไร เพื่อให้งานในปัจจุบันของเรายังคงมีคุณค่า สามารถทำในสิ่งที่ตอบโจทย์ทั้งตัวเรา ตอบโจทย์ทั้งองค์กร ตอบโจทย์ทั้งสังคมภายนอก ทุกอย่างไปพร้อมๆกัน งานในวันนี้มาจากสิ่งต่างๆที่มารวมกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บอกตรงๆเลยว่า ไม่เคยผ่านพวกนั้นมา อยู่ๆพี่เข้ามาทำเลย มันไม่ได้เป็นอย่างวันนี้หรอก
ชีวิตไม่ได้ทำมาเพื่อตัวเอง เราต้องทำเพื่อคนอื่นด้วย แต่เป็นหลักการการใช้ชีวิตที่เอาไปใช้กับทุกเรื่องในปัจจุบัน นี่คือการเรียนรู้ที่นี่บอกเรา ถ้าในแง่ธุรกิจเราจะเหมือนแบบบริษัทจดทะเบียน เพราะเราทำธุรกิจของตัวเองต้องใส่ใจสิ่งรอบข้าง จนทุกวันนี้มีเรื่อง ESG คือภาพขยายของแนวคิดของการทำเพื่อสังคม ทำโดยไม่ได้คิดแค่ตัวเอง แต่คำนึงถึงส่วนรวมเรียกว่า “ห่วงโซ่คุณค่า” ของการดำเนินชีวิตตัวเอง เมื่อก่อนเป็นเรื่องเล็กๆที่มีเพียงไม่กี่คนที่พยายามทำเพื่อสังคม แต่ตอนนี้ ESG กลายเป็นเรื่องระดับชาติ ระดับโลกไปแล้ว นั่นคือสิ่งที่ทุกคนต้องทำ แต่ถ้าเราทำเพื่อตัวเองเอาตัวเองรอด สักวันเราก็จะตาย จึงเป็นเรื่องสอนที่มาของเรื่องนี้ กลับไปที่เรื่องเงินใช้ชีวิตอีกแบบได้เช่นกัน

อยากจะฝากถึงผู้ที่มีความใฝ่ฝันที่อยากจะทำงานในวงการสื่อด้านตลาดทุน การเงิน การลงทุน เพื่อไว้เป็นแนวทางให้กับคนรุ่นหลังต่อไป?
ฝากครับ ถ้าอยากทำ ทำเลยครับ แต่ทำให้มันดีนะ ต้องทำอย่างเข้าใจอยู่บนหลักคิดเพื่อทุกคน ทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดี ถ้าอยู่บนโจทย์นี้ อยู่บนแกนนี้ คุณจะนำเสนอเรื่องการเงิน เรื่องสังคม เรื่องอาหาร เรื่องสิ่งแวดล้อม หรืออะไรก็แล้วแต่ถ้าอยู่บนพื้นฐานที่ว่าทำเพื่อให้ชีวิตของทุกคนมีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดี อยู่บนหลักนี้ เดี๋ยวคุณจะมาแนวนั้นเอง ความรู้ทุกคนมีเท่ากัน แต่เจตนาของการนำเสนออาจจะต่างกัน

จบจากคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มทร.พระนคร เคยเป็น SETJFC รุ่น 1/2011 มีความสนใจด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และทีวีเป็นพิเศษ ชอบวาดรูป ถ่ายภาพ และเขียนไดอารี่